วันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เมื่อเราโตขึ้น รักจะโตตาม...

ตอนยังเด็ก --
หลายๆคน มองแต่ว่า ความรัก มีเพียงความรัก
เท่านั้นพอ

แต่พอโตขึ้นมา สักหน่อย
เราจะค่อยๆเรียนรู้ ความรัก ว่า>>>
คนสองคน ที่จะรักกันได้นั้น
นอกจาก รัก แล้ว -- ยังมีอีกหลายอย่างมากมาย
ที่จะทำให้รักนั้น รักได้นาน

ยิ่งเราโตมากขึ้นเท่าไหร่ ความรักจะยิ่งโตตาม
เหตุผลมากมายเข้ามา
ทำให้รัก ที่เคยมีแต่อารมณ์ล้วนๆ
กลายเป็น รักที่มีเหตุผลขึ้น
หากแต่---
รักก็ยังคงเป็นเรื่องของอารมณ์ มากกว่าเหตุผล
เมื่อไรที่ใช้เหตุผล มากจนเกินไป
รักก็จะอึดอัด

ไม่ต้องรีบร้อนเกินไปที่จะรัก
เพราะ ยิ่งเราโตขึ้นเท่าไร
ทุกความรัก ที่เราเคยคิดไว้
มันจะเปลี่ยนไป ตามพัฒนาการของชีวิต
ช่วงวัยเด็ก รักที่เราต้องการคือการดูแล ปกป้อง
ช่วงวัยรุ่น เราต้องการ การใส่ใจดูแล การครอบครอง
แต่เมื่อเราโตเป็น ผู้ใหญ่ รักคือความมั่นคง
ต้องการเพียงใครสักคน--
ที่เข้ามาเติมเต็มชีวิตเราได้
เข้าใจในสิ่งที่เราเป็น

เมื่อรักค่อยๆโต
เราก็ค่อยๆปล่อยให้รัก มันโตไปตามกาลเวลา
ให้รักค่อยๆพัฒนา
เหมือนกับชีวิตเรา ที่ค่อยๆโตไป
สังเกตไหม?
อะไรก็ตาม ที่มาเร็ว มันก็มักจะไปเร็ว
นี่คือวัฏจักร

รักแบบค่อยเป็นค่อยไป
รักแบบมีพัฒนาการ
ให้เราโตไปพร้อมๆกับความรัก
แล้วรักจะอยู่ในใจไปได้อีกนาน



วันจันทร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557

ความสุข อยู่แค่เอื้อมมือออกไป

คราที่หัวใจอ่อนล้า เรามักจะถามหาว่าความสุขอยู่ไหน
ความจริงแล้ว---

ความสุขมีอยู่กับเราทุกที่ ทุกเวลา - - ความสุขอยู่กับเราเสมอ 

เพียงแต่ เรามักจะมองข้ามมัน เพราะเรามัวแต่มองความทุกข์ จากสิ่งที่เกิด มากกว่า การมองหาความสุขจากสิ่งที่มี

"ฟ้าใส ฟ้าสวย" ก็สุขได้ "ฟ้าใส ฟ้าสวย" แต่ทำไม เราไม่สุข

---

ก็เพราะใจเราต่างหากที่เลือกจะมอง ที่เลือกจะคิด

หากคิดว่าตอนนี้ตัวเอง ต้องนั่งอยู่กับที่นานๆ กระดุกกระดิกตัวไม่ได้

--พอสามารถทำได้

เราก็จะเหยียดแขน เหยียดขา อย่างเต็มที่ // อืมมม สุขจัง

---

บางที ความสุข อาจมาจากสิ่งเล็กๆ เช่นการเหยียดแขน แค่นั้นเอง

^_____^

วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2557

สิ่งที่ทำไปแล้ว ... เรียกคืนมาไม่ได้

       เคยไหม???? หลายครั้งที่เราอยากจะหมุนเข็มนาฬิกา
เพื่อย้อนเวลากลับไปแก้ไข บางสิ่งบางอย่าง หรือ หลายๆอย่าง


    แต่ "เวลา"  คือ สิ่งเดียวที่เราไม่สามารถย้อนมันได้

  หลายครั้งที่เราทำอะไรต่างๆไปด้วย "อารมณ์"
 "อารมณ์" ที่เรามักจะให้เหตุผลว่า นั่นคือ "เหตุผล"

  แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราก็จะรู้ว่า นั่นคือ "อารมณ์" ต่างหาก

 "อารมณ์" ที่มีเหนือ "เหตุผล" ใดๆ

  "อารมณ์" ต่างๆ ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิด "เหตุ"

  "อารมณ์รัก"  ทำให้เราสามารถทำหลายสิ่งได้โดยขาดการยั้งคิด
 และเราก็ปล่อยให้อารมณ์รัก อยู่เหนือความคิด หรือสติใดๆ

 "อารมณ์โกรธ" ทำให้เราสามารถทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนรอบข้าง และทำร้ายคนที่เรา (เคย) รัก
 ได้อย่างไม่มีชิ้นดี

ทำไมจึงกล่าวถึงเพียง 2 อารมณ์นี้ นั่นเพราะ ทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่
2 อารมณ์นี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว

"เหตุผลใดๆ" ย่อม ไม่มีตามมาเป็นแน่

.... แล้วจะทำอย่างไร ให้รัก ได้อย่างมีเหตุผล
.... แล้วจะทำอย่างไร ให้โกรธ ได้อย่างมีสติ

เคยได้ยิน คำเล่าโบราณ ที่ขับขานมาหรือไม่??
ว่าถ้านอนไม่หลับให้นับแกะ

เมื่อใดก็ตามที่โกรธ โกรธมาก โกรธถึงขีดสุด ลองถอยกลับมานับหนึ่ง...สอง...สาม....สี่....ห้า.....
ไปเรื่อยๆ
จนกว่าความโกรธจะเบาลง
จากนั้นลองวิเคราะห์ว่า โกรธทำไม โกรธเพราะอะไร
แก้ไข ได้หรือไม่
หากความโกรธยังมีอยู่ ไม่ลดลง ลองถอยกลับไปตั้งหลักใหม่อีกครั้ง
อย่า คิดจะทำอะไร ในขณะที่ยังโกรธ
....มิเช่นนั้น สิ่งที่ตามมา อาจจะกลายเป็นผลดี มากกว่าผลเสีย เมื่อเราหายโกรธแล้ว

เมื่อใดก็ตามที่รัก รักมาก รักมากที่สุด ลองถามตัวเองว่าทำไมรักเขา
รักด้วยความไม่ประมาท
หากวันหนึ่งไร้รักจากเขาแล้ว เราอยู่ได้ไหม อยู่ได้ อยู่อย่างไร
ครอบครัวเรามีไหม คนที่รักเรามีไหม
รัก รักให้ได้ด้วยเหตุผล หากสุข ก็ยังรักต่อไป หากไม่สุขแล้ว จะรักต่อไปเพื่ออะไร
หาความสุขให้ได้จากรัก
หาเหตุผลให้ได้ในรัก

เพราะ... ไม่ว่าจะอารมณ์รัก หรือ อารมณ์โกรธ

เมื่อเกิดความผิดหวังขึ้น

อาจทำให้เราทำอะไรไป โดยที่ ไม่สามารถเรียกคืนมาได้อีกเลย

#ถ้าจะรัก ควรรักตัวเองให้มากที่สุด
#ถ้าจะโกรธใคร ควรโกรธตัวเองให้มากที่สุด
#โกรธที่ไม่รักตัวเอง

วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

วิชาเลือก กับ วิชาเลือกเสรี...ต่างกันอย่างไร??

นศ.หลายคน สับสน คำว่า
"วิชาเลือก กับ วิชาเลือกเสรี"

👉วิชาเลือก ... จะเป็นวิชาที่อยู่ในหลักสูตร ซึ่ง นศ สามารถเลือกเรียนได้ ตามความพอใจ
... แต่ ทำไม บางครั้ง นศ ไม่ได้เลือก --👋เนื่องจาก--
1)ในบางรายวิชาที่อยู่ในกลุ่มวิชาเลือก มีความซ้ำซ้อน กับ รายวิชาบังคับ ที่นักศึกษา "ต้องเรียน" ถ้าเรียนอีก จะซำ้ซ้อน
2)บางรายวิชา อ ผู้สอน ไม่สะดวกเปิดรายวิชา ดังกล่าว

..ดังนั้น ในแต่ละปี อ ทั้งหลักสูตร จะมาช่วยกันพิจารณา "เติม"ส่วนที่ขาดและ "เสริม"ส่วนที่เหมาะสม ให้กับ นศ👍

👉วิชาเลือกเสรี...คือ รายวิชา ที่ นศ มีอิสระเต็มที่ ที่จะเลือกจะเรียน วิชาใด ก็ได้ ที่เปิดใน มหา'ลัย
...วิชานั้น อาจจะเปิดมา ในกลุ่มเลือกเสรี ที่ มหา'ลัย ประกาศ
...หรือ เป็นวิชาของหลักสูตร คณะ สาขา กลุ่มวิชา อื่นๆ ที่ไม่ใช่ของเรา ได้หมด
--ซึ่ง ถ้า นศ อยากเรียนอะไร ก็ไปเรียนตามที่อยากเรียน มากกว่าตามกำหนด ก็ได้
เช่น เทอมนี้ บังคับ เลือกเสรี 1ตัว แต่อยากลง2ตัว ก็ได้ --แต่ หน่วยกิต รวมต่อเทอม ต้องไม่เกิน21

**สมัยครูเรียน ครูเก็บเลือกเสรี เยอะมาก เพราะวิชานั่น ก็อยากเรียน วิชานี่ ก็อยากเรียน ดังนั้น การเรียนวิชาเลือกเสรี จึง แล้วแต่ใจเรา 😁😁

วันอังคารที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พยากรณ์ออนไลน์ : วิถีทำนายของคนไทยในยุคปัจจุบัน


จากความไม่รู้ ความไม่เข้าใจในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ทำให้มนุษย์เกิดความกลัว ต่อสิ่งต่างๆ ที่มองไม่เห็น เนื่องจากบางสิ่งทำให้มนุษย์ประสบกับความทุกข์ยาก ดังนั้น การหาที่พึ่งทางจิตใจ จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายต้องการ
แม้ว่าในปัจจุบัน ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้เจริญขึ้นมาก มีการค้นคว้าและทดลองทางวิทยาศาสตร์มากมายเกิดขึ้น ทำให้มนุษย์เข้าใจกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ และสามารถที่จะต่อกรกับความรุนแรงทางธรรมชาติได้ แต่กระนั้นความเชื่อหลายๆเรื่อง ก็ยังคงอยู่ เนื่องจากความเชื่อเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกลงไปในจิตใจของกลุ่มชน และบางความเชื่อได้กลายเป็นวัฒนธรรม ประเพณีของคนในบางสังคม

ความเชื่อคืออะไร?

          ความเชื่อคืออะไร คำถามนี้คนที่จะตอบได้ก็คือ คนที่มีความเชื่อ

          ความเชื่อของแต่ละคน แต่ละสังคมไม่เหมือนกัน บางคนเชื่อเพราะพิสูจน์มาด้วยตนเอง บางคนเชื่อเพราะถูกสั่งสอนมา บางคนเชื่อเพราะถูกบังคับให้เชื่อ ดังนั้นความเชื่อในแต่ละท้องถิ่นจึงไม่เหมือนกัน ใครอยู่ท้องถิ่นใด ก็จะเชื่อตามท้องถิ่นนั้น เพราะถ้าไม่เชื่อ ไม่ปฏิบัติตาม ก็อาจจะถูกประณามหรือว่ากล่าว จากคนในท้องถิ่น

          จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า
เมื่อใดก็ตามที่เรายอมรับนับถือ หรือยึดมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่งทั้งที่มีตัวตนหรือไม่ก็ตาม ว่าเป็นความจริงหรือมีอยู่จริง การยอมรับนับถือนี้อาจจะมีหลักฐานอย่างเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้หรืออาจจะไม่มีหลักฐานที่จะนำมาใช้พิสูจน์ให้เห็นจริงเกี่ยวกับสิ่งนั้นก็ได้  ทั้งหมดนี้เรียกว่า  “ความเชื่อ”
และจากความเชื่อนี้เอง ได้นำไปสู่อาชีพที่สร้างรายได้ให้กับคนบางกลุ่มเป็นจำนวนมาก อาชีพดังกล่าวอาศัยฐานความเชื่อของคนในสังคม ที่กำลังต้องการที่พึ่งทางใจเป็นที่ตั้ง นำมาสู่อาชีพที่เรียกว่า หมอดู หรือในปัจจุบันมีการตั้งชื่อให้ทันสมัยมากขึ้น ว่า “นักพยากรณ์”

 



การพยากรณ์คืออะไร?
          การพยากรณ์ เป็นการทำนายหรือคาดการณ์เกี่ยวกับบุคคล สิ่งมีชีวิตอื่น สิ่งไม่มีชีวิตและเหตุการณ์ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต (สุโขทัยธรรมาธิราช,มหาวิทยาลัย 2531:687)
คนส่วนใหญ่มักจะอยากรู้เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ในบางครั้งก็อาจจะอยากรู้เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต หรือในชาติที่ผ่านมา ทั้งนี้บางคนเลื่อมใสและศรัทธามาก จนดำเนินชีวิตตามคำพยากรณ์เป็นหลัก

ความเชื่อกับการพยากรณ์
การพยากรณ์ กลายเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนในสังคมปัจจุบัน ที่กำลังเผชิญปัญหา ขาดสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยการนำความเชื่อของคนไทยมาเป็นช่องทางในการพยากรณ์ ทั้งนี้คนไทยมีความเชื่อเรื่องต่างๆ มาตั้งแต่อดีตอยู่แล้ว (กิ่งแก้ว อัตถากร  2520:93-94)  ได้แก่
1.       ความเชื่อเรื่องบุคคล ได้แก่ การตั้งชื่อ วิญญาณ การเกิด การตาย เป็นต้น
2.       ความเชื่อสิ่งแวดล้อม เป็นความเชื่อในเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ลายแทง ลางสังหรณ์ เป็นต้น
3.       ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น เทพเจ้า เวทมนตร์คาถา พระภูมิเจ้าที่ เป็นต้น
4.       ความเชื่อเรื่องเพศ เช่น พ่อเจ้าชู้ ลูกชายมักจะเจ้าชู้ เป็นต้น
5.       ความเชื่อเรื่องสุขภาพและสวัสดิภาพ เช่น เป็นฝีห้ามกินข้าวเหนียว คนหูยานจะอายุยืน              เป็นต้น
6.       ความเชื่อเรื่องโชคลาง เช่น จิ้งจกทัก นกแสกร้อง เป็นต้น
7.       ความเชื่อเรื่องความฝัน เช่น ฝันว่างูกัดหรืองูรัดจะได้คู่ ฝันว่าเห็นผีจะมีโชค เป็นต้น
8.       ความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง เช่น ความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ คาถาอาคม ผ้ายันต์             พระเครื่อง เป็นต้น
9.       ความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณ เช่น ผีปู่ย่าตายาย เป็นต้น
10.   ความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์
11.   ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ ได้แก่ การทำนายทายทักทางโชคชะตาราศี เป็นต้น

ความเชื่อต่างๆเหล่านี้มีมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยในอดีตนั้นความเชื่อต่างๆค่อนข้างจะ
เด่นชัด และมักจะปรากฏในวรรณคดีไทยหลายๆเรื่อง ดังตัวอย่าง
ความเชื่อเกี่ยวกับฤกษ์ยาม
ความเชื่อในเรื่องฤกษ์ยาม ในอดีต มักจะปรากฏในช่วงเวลา การยกทัพ  การแต่งงาน  การขอพระราชทานอภัยโทษ
          การยกทัพ
                    “ครั้นจัดเสร็จเรียบร้อยคอยเวลา             โหราเหยียบเงาเอาชั้นฉาย
          พอถ้วนนาทีสี่โมงปลาย                                 ถึงฤกษ์จะขยายขบวนพล”
                                                                   (ขุนช้างขุนแผน)
          การแต่งงาน
                   “อันว่าข้างแรมเดือนนี้                        ฤกษ์พานั้นดีนักหนา
          อันซึ่งจะทำการวิวาห์                                   จะเป็นสถาพรสืบไป
          ข้างขึ้นนี้ไม่ดีหนักหนา                                  พระผ่านฟ้าจงแจ้งแถลงไข
          จะบังเกิดเหตุเภทภัย                                   พระองค์อย่าได้ไคลคลา”
                                                                   (ดาหลัง)
          การขอพระราชทานอภัยโทษ
                   “ครานั้นขุนแผนแสนสะท้าน                 ฟังลูกคิดอ่านก็เห็นได้
          แต่ครั้นจับยามดูรู้แจ้งใจ                                จึงว่ากับพระไวยพ่อพลายงาม
          อัฐกาลพาลขัดอยู่หนักหนา                            พ่อว่าประหนึ่งจะชิงห้าม
          เจ้าจะไปทูลขอก็ดูตาม                                 ในยามว่าองค์พระทรงชัย
          เจ้าไปทูลขอโทษคงโปรดแน่                            แต่แม่เจ้าหาพ้นจากตายไม่
          ดูหน้าหน้าก็นวลจวนบรรลัย                           จะใกล้ในเวลานี้เข้าสี่โมง
          ขีดชะตาลงดูกับแผ่นดิน                                ก็ขาดสิ้นเคราะห์ร้ายเห็นตายโหง
          เสาร์ทับลัคนากาจับโลง                                ยามลิงล้วงโพรงจระเข้กิน”
                                                                   (ขุนช้างขุนแผน)
ความเชื่อเกี่ยวกับความฝัน
          ตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน คนไทยมีความเชื่อว่า ความฝันเป็นสิ่งที่จะบอกเหตุล่วงหน้า  โดยเหตุของการฝันมี 4 อย่าง (ภิญโญ  จิตต์ธรรม 2522:11) คือ
                    1)บุรพนิมิต       คือ      ลางบอกเหตุให้ทราบล่วงหน้า
                   2)จิตนิวรณ์       คือ      เหตุจากมีจิตใจจดจ่อกับสิ่งนั้น
                   3)เทพสังหรณ์    คือ      เทวดาดลใจบอก
                   4)ธาตุโขภะ      คือ      เหตุจากธาตุวิปริต
          ในอดีตนั้น คนไทยจะเชื่อในข้อ ที่ 1 และ 3 มาก ซึ่งความเชื่อดังกล่าวจะเห็นได้จาก การดำเนินเรื่องในวรรณคดีเรื่องต่างๆ ดังนี้
          ฝันว่าจะได้พบคู่
                   “ครานั้นนางพิมนิ่มสนิท                      เกิดนิมิตประจักษ์ใจเมื่อใกล้สว่าง
          ว่าว่ายข้ามน้ำได้ไปกลางทาง                           กับพี่นางสายทองคะนองใจ
          ถึงฝั่งตื้นพอยืนตรง                                      สายทองส่งบัวทองประคองให้
          หอมห่อผ้าห่มชื่นใจ                                     แล้วกลับข้ามน้ำได้ดังจินดา”
                                                                   (ขุนข้างขุนแผน)
          ฝันบอกเหตุ
                   “ให้มีลางคืนนั้นสนั่นอึง                       แมลงมุมตีอกผึงหาหยุดไม่
          สยดสยองพองขนทุกคนไป                    เย็นยะเยือกจับใจไปทุกยาม
          ทองประศรีนอนหลับแล้วกลับฝัน                      ความกลัวตัวสั่นใจหวาม
          สดุ้งฟื้นตื่นขึ้นให้ครั่นคร้าม                             อารามตกใจปลุกซึ่งสามี
          ขุนไกรถามไปว่าอะไรเจ้า                               นางจึงเล่าความฝันนั้นถ้วนถี่
          ว่าฟันฉันหักกระเด็นเห็นไม่ดี                           ช่วงทำนายฝันนี้ให้แจ้งใจ”
                                                                   (ขุนช้างขุนแผน)
          จากความเชื่อดังกล่าว จะเห็นได้ว่าความเชื่อกับการพยากรณ์ เป็นสิ่งที่มีมาคู่กันตั้งแต่อดีต ทั้งนี้การพยากรณ์เหตุการณ์บางเหตุการณ์ ก็มีสมมติฐานมาจากความเชื่อของกลุ่มคนในสังคมนั่นเอง
         

การพยากรณ์ออนไลน์
          ในปัจจุบันการพยากรณ์มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การดูไพ่ยิปซี การดูลายมือ การดูลายเท้า การดูกราฟชีวิต การเสี่ยงเซียมซี การดูไพ่ป๊อก การดูโหงวเฮ้ง การดูไฝฝ้าตำหนิในร่างกาย ฯลฯ
          รูปแบบการพยากรณ์ที่หลากหลายนั้น ได้มีการพัฒนาเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยใช้วิธีการพยากรณ์ผ่านทางอินเตอร์เน็ต โดยผู้ที่สนใจสามารถที่จะฟังคำพยากรณ์สดๆจากนักพยากรณ์ที่มีชื่อเสียงได้ โดยการคุยกันผ่านระบบอินเตอร์เน็ตและระบบโทรศัพท์  นับได้ว่าการพยากรณ์ในรูปแบบใหม่นี้ได้สร้างความสนใจ และเพิ่มความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่กลุ่มคนที่ชื่นชอบการพยากรณ์ โดยการพยากรณ์รูปแบบใหม่นี้ เรียกว่า “การพยากรณ์ออนไลน์”

รูปแบบการพยากรณ์ออนไลน์ปัจจุบัน

จากการศึกษา รูปแบบการพยากรณ์ออนไลน์ในปัจจุบัน พบว่า การพยากรณ์ออนไลน์ในปัจจุบัน มีความน่าสนใจ จูงใจ และมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ดังนี้
1.       การตั้งชื่อเว็บไซต์เกี่ยวกับการพยากรณ์
มีการตั้งชื่อ 3 แบบ คือ
1)การตั้งชื่อโดยการใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับการพยากรณ์  เช่น  www.horoscope.sanook.com  www.astro.meemodel.com  www.thaiholyname.com เป็นต้น
2)การตั้งชื่อโดยการใช้คำไทยในรูปแบบของภาษาคาราโอเกะ เช่น www.yodtip.com/web/link.asp(ยอดทิพ)  www.modothai.com/(หมอดูไทย) www.mahamodo.com(มาหาหมอดู)   www.meesook.com(มีสุข) www.goosiam.com(กูสยาม) เป็นต้น
3)การตั้งชื่อโดยใช้คำไทยผสมกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษ  เช่น  www.papadahoro.com(ปภาดาดูดวง)  www.thefuntong.com (เดอะฟันธง)
          โดยลักษณะการตั้งชื่อนั้น จะสังเกตได้ว่า บางชื่อไม่ได้สื่อถึงการพยากรณ์โดยตรง  เช่น yodtip (ยอดทิพ) meesook (มีสุข) goosiam (กูสยาม)
2.       รูปแบบการพยากรณ์
เว็บไซต์ต่างๆ มีรูปแบบการพยากรณ์ที่คล้ายคลึงกัน โดยมีรูปแบบการพยากรณ์ สรุปได้ดังนี้
1)การดูดวงรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายปี
2)การดูดวงตามเนื้อคู่
3)การดูดวงตามโหราศาสตร์ไทย และ จีน
4)การดูฤกษ์ยามในการประกอบกิจการต่างๆ หรือ การออกรถ
5) การดูดวงโดยใช้พลังจิต
6)การทำนายฝัน
7)กราฟชีวิต
8)การทำนายจากไพ่ยิปซี ไพ่ทาโรต์
ลักษณะการพยากรณ์ดังกล่าวนั้น จะเป็นลักษณะของคำพยากรณ์ที่มีระบุไว้อยู่แล้วในโปรแกรม
โดยผู้ที่ต้องการรู้คำพยากรณ์ เพียงแค่กรอกข้อมูลบางอย่าง เช่น วัน เดือน ปี เกิด หรือเลือกไพ่ โดยบางเว็บไซต์จะมีเสียงของนักพยากรณ์ หรือเสียงประกอบคำพยากรณ์ด้วย เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับคำพยากรณ์
 

      เนื้อหาคำพยากรณ์
เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องทั่วๆไป เช่น พื้นฐานชีวิต อดีตที่ผ่านมา อนาคต สิ่งที่พึงระวัง สิ่งของ
เสริมดวง เป็นต้น โดยบางเว็บไซต์จะมีคำพยากรณ์เพียงบางส่วน ในกรณีที่ต้องการอ่านคำพยากรณ์ทั้งหมด ต้องเสียค่าสมาชิก หรือโทรศัพท์ไปยังเบอร์ที่กำหนด

 


          ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า หากคำพยากรณ์ที่ปรากฏ เป็นคำพยากรณ์ในด้านลบ เนื้อหาในคำพยากรณ์จะระบุวิธีแก้ โดยการซื้อสิ่งของหรือวัตถุมงคลเพื่อเสริมดวง ซึ่งมีจำหน่ายในเว็บไซต์นั้นๆด้วย
          นอกจากนี้ ทุกเว็บไซต์ยังมีบทความที่เกี่ยวข้องกับการพยากรณ์ และเนื้อหาอื่นๆที่หลากหลายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้อ่าน เช่น ฟังเพลง เดินทางท่องเที่ยว นานาน่ารู้ ข่าวเด่น เป็นต้น โดยเนื้อหาต่างๆเหล่านี้จะมีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ

 




          จากการศึกษาการพยากรณ์ออนไลน์ จากเว็บไซต์ต่างๆที่ปรากฏ พบว่า ทุกเว็บไซต์มักจะมีการโฆษณานักพยากรณ์และผลงานของนักพยากรณ์นั้นๆ เพื่อจูงใจให้คนอยากฟังคำพยากรณ์
 และสมัครสมาชิกหรือโทรศัพท์ไปฟังคำพยากรณ์ โดยแฝงการขายสินค้าชนิดต่างๆเพื่อเป็นการเสริมดวงหรือสะเดาะเคราะห์ บางเว็บไซต์มีการโฆษณาจูงใจการสมัครสมาชิก  โดยผู้สมัครสมาชิกจะได้รับของแถมต่างๆ ทั้งนี้การสมัครสมาชิกจะเสียค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไป ตามเงื่อนไขของแต่ละเว็บไซต์ และเพื่อให้การพยากรณ์ออนไลน์เข้าถึงกลุ่มคนมากยิ่งขึ้น หลายเว็บไซต์มีการให้โหลดโปรแกรมดูดวงทั้งแบบฟรี และเสียค่าใช้จ่าย วิธีการโหลดนั้นก็มีทั้งโหลดเพื่อใช้งานกับคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่

 


การพยากรณ์ออนไลน์กับวิถีชีวิตคนไทยปัจจุบัน
          การพยากรณ์เป็นเพียงศาสตร์แขนงหนึ่ง ที่ยังหาข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ แต่ในปัจจุบันซึ่งวิทยาศาสตร์ได้ก้าวหน้าไปมาก ก็ยังมีกลุ่มคนจำนวนมากให้ความสนใจในศาสตร์แขนงนี้
          ธัญมน  รักสกุลชาญชัย (2547:บทคัดย่อ) ได้ทำการศึกษาความเชื่อเรื่องดวงและการปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของนักศึกษาปริญญาโท พบว่าการไปหาหมอดูพยากรณ์ดวงก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้มีแนวทางเลือกเพิ่มขึ้น แต่ยังมีความคิดเห็นของตัวเองและนำไปใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทำให้มีความระมัดระวังเพิ่มขึ้น มีการตัดสินใจที่รอบคอบขึ้น ส่วนแนวโน้มความเชื่อเรื่องดวง และการปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในอนาคต จากการศึกษาพบว่า มีแนวโน้มในการดูดวงเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันศาสตร์ด้านพยากรณ์มีการพัฒนาไปในเชิงวิทยาศาสตร์ ที่เป็นรูปธรรมและมีการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดูหมออย่างแพร่หลาย ทำให้เกิดมีการประกอบอาชีพเชิงธุรกิจและก่อให้เกิดรายได้กระจายสู่สังคมอีกทางหนึ่ง
          จะเห็นได้ว่าแม้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้พัฒนาไปไกล แต่ศาสตร์ด้านการพยากรณ์ก็ยังคงมีอยู่ และยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยมีการพัฒนารูปแบบเป็นการพยากรณ์ที่ทันสมัย ดังเช่น การพยากรณ์ออนไลน์ ที่กลายมาเป็นวิถีทำนายรูปแบบใหม่ของคนไทยในปัจจุบัน   สำหรับคนที่มีความเชื่อในศาสตร์นี้ การพยากรณ์ออนไลน์กลายเป็นที่พึ่งทางใจที่สำคัญ และมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตในหลายๆด้าน เนื่องจากความเชื่อด้านนี้เป็นความเชื่อที่ถูกปลูกฝัง และหยั่งรากลึกในจิตใจคนไทยมาช้านาน จนในบางครั้งการพยากรณ์ออนไลน์ กลายเป็นการชี้นำพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันไปแล้ว


เอกสารอ้างอิง
กิ่งแก้ว  อัตถากร.คติชนวิทยา.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา,2520.
ธัญมน  รักสกุลชาญชัย.ความเชื่อเรื่องดูดวงและการปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของนักศึกษาปริญญาโท.
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์,2547.
ภิญโญ  จิตต์ธรรม.ความเชื่อ(คติชาวบ้านอันดับ5).สงขลา:โรงพิมพ์มงคลการพิมพ์,2522.
สุโขทัยธรรมาธิราช,มหาวิทยาลัย.ภาษาไทย:คติชนวิทยาสำหรับครู หน่วยที่8-15.นนทบุรี:
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2537.

 เว็บไซต์อ้างอิง
www.horoscope.sanook.com
www.astro.meemodel.com

จากการเรียนรู้วัฒนธรรมทางภาษา .. สู่การสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง

          จากบทความก่อนหน้าที่ ในเรื่อง วัฒนธรรมทางภาษา
          นำมาสู่การออกแบบการสอน
          ในฐานะที่ผู้เขียน สอนอยู่ในระดับอุดมศึกษา ซึ่งผู้เรียน ค่อนข้างจะมีความคิดเป็นตัวของตัวเองที่สูง
ดังนั้น การป้อนความรู้ หรือความคิดใดๆนั้น หากสักแต่ว่าป้อน โดยไม่คำนึงว่าผู้เรียนจะสนใจ จะรับรู้ หรือจะเกิดความคิดตามหรือไม่ ก็จะทำให้การเรียนการสอนไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

          ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นว่า แนวคิดการเรียนการสอนตามกรอบทฤษฎี Constructivist หรือการเรียนรู้แบบสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับผู้เรียนในระดับอุดมศึกษามากที่สุด

          เนื่องจากทฤษฎีนี้ มีพื้นฐานแนวคิดที่ว่า ผู้เรียนแต่ละคนจะเรียนรู้ได้ดีที่สุด ก็ต่อเมื่อได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง

          โดยการเรียนรู้รูปแบบนี้ จะฝึกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยวิธีการต่างๆมากมาย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้ด้วยตนเอง

          ดังนั้นหากผู้เขียนจะสอนเรื่อง วัฒนธรรมทางภาษา
          หากสักแต่มานั่งพูด บอก บรรยาย ผู้เรียนก็คงไม่เห็นภาพที่ชัดเจนนัก

          ผู้เขียนจึงให้ผู้เรียนไปสำรวจ การใช้ภาษา จาก กลุ่มคน 3 กลุ่ม คือ 1.เด็กมัธยม 2.ผู้ใหญ่วัยทำงาน 3.ครู/อาจารย์ และนำมาเปรียบเทียบกัน เพื่อหาลักษณะการใช้ภาษา ของคนทั้ง3 กลุ่มนี้
         
          การสั่งงานในลักษณะดังกล่าว เป็นการฝึกให้ผู้เรียนได้นำเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่ มาใช้วิเคราะห์ การใช้ภาษาของกลุ่มคนดังกล่าว

          ซึ่งจากการออกแบบการสอนดังกล่าว สามารถที่จะให้ผู้เรียนสร้างนวัตกรรม ซึ่งคำว่านวัตกรรมนี้ อาจเป็นเครื่องมือการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ ก็ได้
          ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ ที่กลุ่มของผู้เรียนคิดค้นขึ้นเอง

          จากการออกแบบการสอนดังกล่าว จะทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจ จากการสร้างองค์ความรู้ของตน นำไปสู่การสรุปผล ว่าวัฒนธรรมทางภาษา ของคนทั้ง3 กลุ่ม เป็นเช่นไร แตกต่างกัน เหมือนกันอย่างไร



วัฒนธรรม.. ภาษา ...วัฒนธรรมทางภาษา

        
                                                                                                            
                เมื่อเอ่ยถึง “ภาษา”  หลายคนอาจจะนึกถึงเพียง ภาษาพูด และภาษาเขียน แต่ความหมายของภาษาที่แท้จริงแล้วนั้น ได้ครอบคลุมไปมากกว่านั้น

          พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของภาษาไว้ว่า  ภาษา หมายถึง ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียนเพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ภาษาไทย ภาษาจีน หรือเพื่อสื่อความเฉพาะวงการ เช่น ภาษาราชการ ภาษากฎหมาย ภาษาธรรม; เสียง ตัวหนังสือ หรือกิริยาอาการที่สื่อความได้ เช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาท่าทาง ภาษามือ

          จะเห็นได้ว่า นอกจากภาษาจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร ความคิด อารมณ์ และความต้องการของมนุษย์  ภาษาจะต้องมีกฎเกณฑ์เป็นระบบไวยากรณ์ของแต่ละภาษา

นักมานุษยวิทยาและนักภาษาศาสตร์เชิงสังคมหลายคน เช่น เจ.อาร์.เฟิร์ท(Firth) วอร์ด กูดอีนัฟ(Goodenough) เดลล์ ไฮมส์(Hymes) และวิลเลียม ลาบอฟ(Labov) ได้ให้ความหมายของภาษาที่สอดคล้องกันว่า ภาษาคือรูปแบบของพฤติกรรมทางวัฒนธรรมซึ่งไม่อาจจะศึกษาเป็นเอกเทศโดยไม่คำนึงถึงบริบททางสังคมได้  ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า “ภาษามีความสัมพันธ์กันกับระบบทางวัฒนธรรมและสังคมของมนุษย์อย่างแยกไม่ออก”

ภาษาและวัฒนธรรมมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด  เนื่องจากภาษาเป็นสิ่งสะท้อนความคิดและวัฒนธรรมของมนุษย์ ดังนั้น ภาษาและวัฒนธรรมจึงต่างมีอิทธิพลต่อกันและกัน การที่ผู้พูดต่างภาษาต่างวัฒนธรรมเรียกชื่อหรือมีความคิดเห็นในสิ่งเดียวกันแตกต่างกันหรือจำแนกประเภทของสิ่งต่างๆในธรรมชาติแตกต่างกันไป นั่นเป็นเพราะคนแต่ละสังคมและวัฒนธรรมมีความจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆในธรรมชาติเหล่านั้นแตกต่างกันไป จึงได้กำหนดระบบภาษาในแบบของตนเองขึ้นมา เพื่อสนองความต้องการในการสื่อสารและการดำเนินชีวิตในรูปแบบของสังคมของคน

          ภาษาไทยเราถือว่า เป็นภาษาที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมอย่างชัดเจน

วัฒนธรรมทางภาษา ของภาษาไทยนั้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนขึ้น จากการที่ภาษาไทยได้จำแนกระดับทางภาษา ไว้ 3 ระดับ เพื่อใช้ในเหตุการณ์หรือลักษณะการสนทนาที่แตกต่างกัน ดังนี้
          1. ภาษาปาก (vulgate) คือ ภาษาที่ใช้พูดเพื่อความเข้าใจในหมู่คณะที่มีความใกล้ชิดสนิทสนามกัน ถ้อยคำที่ใช้ไม่ต้องระมัดระวังหรือพิถีพิถันมากนัก เช่น การพูดคุยกับเพื่อน การซื้อขายของตามตลาด
          2. ภาษากึ่งแบบแผน(information) คือ ภาษาที่ใช้พูดหรือเขียนทั่วไป แต่มีความสุภาพรัดกุมมากกว่าภาษาปาก เช่น การสนทนากับผู้ที่มีตำแหน่งหรือวุฒิภาวะที่สูงกว่า การอภิปราย การแนะนำตัว เป็นต้น
          3. ภาษาแบบแผน (formal) คือ ภาษาที่ใช้อย่างเป็นพิธีการ เรียบเรียงด้วยความประณีต ส่วนมากใช้ในการเขียนมากกว่าการพูด เช่น ภาษาในแบบเรียน หนังสือราชการ  การเปิดประชุม เป็นต้น

ทั้งนี้ยังจะเห็นได้ว่า  การใช้ภาษาไทยของเรามีลักษณะที่ตรงตามระเบียบของสังคม 3 ประการ คือ
          1. มีจารีตประเพณีในการใช้ภาษา คือ มีระเบียบแบบแผนที่แน่นอนว่า อะไรผิดอะไรถูก ถ้าหากใช้ผิดก็จะทำให้อ่านผิด ฟังผิด พูดผิดและเขียนผิด จนไม่อาจสื่อความหมายกันได้
          2. มีขนบประเพณีในการใช้ภาษา ได้แก่ ภาษาพูดกับภาษาเขียนซึ่งมีการใช้ไม่เหมือนกัน ภาษาในถิ่นต่างๆ ตลอดจนภาษาของชนกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น ภาษาชาวเรือ ภาษาชาวเขา ภาษานักกฎหมาย เป็นต้น
          3. มีธรรมเนียมประเพณีในการใช้ภาษา คือ ระเบียบแบบแผนของภาษาที่สังคมกำหนดไว้นั้น ถ้าไม่ใช้ตามก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดถูก ชั่ว ดี หรือไม่ถึงกับทำให้การสื่อสารนั้นเสียหายไปแต่อย่างใด แต่ก็ถือว่าไม่มีกิริยามารยาท ขาดลักษณะของสมาชิกที่ดีในสังคม เป็นเหตุให้สังคมรังเกียจได้

          ระเบียบของสังคมดังกล่าว ได้มีอิทธิพลต่อการใช้ภาษาของคนไทยเป็นอย่างมาก นอกจากการใช้ภาษาตามระดับทางภาษาแล้ว การใช้คำก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง เช่น คำต้องห้ามและคำเลี่ยง

          โดยทั่วไปคำต้องห้ามและคำเลี่ยงเป็นคำพูดที่ถือว่าไม่สุภาพ ไม่ควรกล่าวในที่สาธารณะ คำต้องห้ามบางประเภทมีลักษณะเป็นสากล สำหรับคำต้องห้ามในภาษาไทยนั้นได้แก่ คำเกี่ยวกับอวัยวะที่ปกปิด กิจกรรมทางเพศ การขับถ่าย คำเกี่ยวกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ คำหยาบ คำด่า ไม่เว้นแม้แต่คำราชาศัพท์ซึ่งเป็นคำต้องห้ามสำหรับสามัญชนทั่วไป ส่วนคำเลี่ยงนั้นคือคำหรือถ้อยคำที่นำมาใช้แทนคำต้องห้าม เพื่อช่วยให้สามารถพูดหรือกล่าวถึงสิ่งที่ไม่พึงปรารถนานั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อจำเป็นต้องพูดถึงความตาย  ก็อาจใช้คำเลี่ยงว่า สิ้นบุญ หรือเสียชีวิตแทน

          จะเห็นได้ว่าภาษาและวัฒนธรรมนั้นแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะภาษาเป็นวัฒนธรรม และภาษายังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ประเทศชาติมั่นคงเป็นปึกแผ่น อีกประการหนึ่ง ภาษายังเป็นเครื่องมือวัดความเจริญก้าวหน้าชาตินั้นๆ ว่ามีวัฒนธรรมสูงส่งเพียงไร สังเกตเห็นได้จาก การที่คนป่าเถื่อนหรือไม่ได้รับการอบรมมาก่อน เวลาพูดก็จะไม่น่าฟัง เช่น ใช้ภาษากักขฬะ ในขณะที่คนที่ใช้ภาษาได้เป็นอย่างดี ก็จะเรียนรู้วัฒนธรรมที่ดีงามไปพร้อมๆกัน ทำให้การแสดงออกต่างๆนั้น ถูกต้องตามกาลเทศะและบุคคล

ในปัจจุบัน ด้วยกระแสทางวัฒนธรรมและภาษาของต่างประเทศที่ถาโถมเข้ามา ทำให้วัฒนธรรมทางภาษาของไทยได้สั่นคลอนตามไปด้วย ภาษาที่สื่อถึงวัฒนธรรมที่ดีงามของคนไทยซึ่งได้สืบทอดมายาวนานกว่า 700ปี กำลังเสื่อมถอย ผกผันกับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ การใช้ภาษาในปัจจุบันที่ไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสม มีการใช้คำที่ผิดความหมาย รวมไปถึงการนำคำต้องห้ามมาใช้กันอย่างถ้วนทั่ว  สิ่งต่างๆเหล่านี้ได้กำลังสะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่าง ที่กำลังจะเกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นแล้วกับวัฒนธรรมทางภาษา  การใช้ภาษาให้ถูกต้อง เหมาะสมกับกาลเทศะ และบุคคล จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สื่อถึงวัฒนธรรมที่ดีงามของไทย ที่ถ่ายทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน ผ่านวัฒนธรรมทางภาษา